เมนู

1. อิตถิวิมานวัตถุ


ปีฐวรรควรรณนาที่ 1


1. อรรถกถาปฐมปีฐวิมาน


แม้ปีฐวิมานเรื่องที่ 1 ในปีฐวรรคที่ 1 นั้น มีวัตถุปัตติเหตุ
เกิดเรื่อง ดังต่อไปนี้ :-
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงถวายอสทิสทาน
7 วัน แด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านอนาถบิณฑิกะ
มหาเศรษฐี ก็ถวาย 3 วัน พอสมควรแก่อสทิสทานนั้น นางวิสาขา
มหาอุบาสิกา ก็ถวายมหาทานเหมือนอย่างนั้น. ประวัติความเป็นไปแห่ง
อสทิสทาน ได้ปรากฏทั่วชมพูทวีป. ครั้งนั้น มหาชนยกเรื่องขึ้นพูดกัน
ในที่นั้น ๆ ว่า ทานจักมีผลมาก ด้วยการบริจาคสมบัติอันโอฬารอย่างนี้
หรือ ๆ จักมีผลมาก แม้ด้วยการบริจาคพอสมควรแก่ทรัพย์สมบัติของตน.
ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว ก็กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานมิใช่จักมีผลมาก ด้วยการ
ถึงพร้อมแห่งไทยธรรมอย่างเดียว ที่แท้ ทานจักมีผลมาก ก็ด้วยความ
ถึงพร้อมแห่งจิตที่เลื่อมใส และด้วยความถึงพร้อมแห่งเขต [ทักขิไณย-
บุคคล ] เพราะฉะนั้น ทานวัตถุเพียงสักข้าวกำมือหนึ่งก็ดี เพียงผ้าเก่า
ผืนหนึ่งก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยหญ้าก็ดี เพียงเครื่องลาดทำด้วยใบไม้ก็ดี
เพียงสมอดองน้ำมูตรเน่าก็ดี บุคคลมีจิตเลื่อมใสแล้ว ตั้งไว้ในทักขิไณย-
บุคคล ทานแม้นั้น ก็จักมีผลมาก รุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ดังนี้.

จริงอย่างนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ก็ตรัสคำเป็นคาถา ดังนี้ว่า
นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ อปฺปิกา นาม ทกฺขิณา
ตถาคเต วา สมฺพุทฺเธ อถวา ตสฺส สาวเก

เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า หรือ
พระสาวกของพระสัมพุทธเจ้านั้น ทักษิณาไม่ชื่อว่า
น้อยเลย.

ถ้อยคำนั้น ได้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป. มนุษย์ทั้งหลาย พากันให้ทาน
ตามสมควรแก่ทรัพย์สมบัติ แก่สมณพราหมณ์คนยากไร้ คนเดินทางไกล
วณิพกและยาจกทั้งหลาย ตั้งน้ำดื่มไว้ที่ลานเคหะ ปูอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู.
สมัยนั้น พระเถระผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์เป็นวัตรรูปหนึ่ง มีอากัปกิริยา
ก้าวไป ถอยกลับ เหลียว แล คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส ทอด
จักษุลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ เที่ยวบิณฑบาต ก็มาถึงเรือนหลังหนึ่ง
ในเวลาจวนแจ. ในเรือนหลังนั้น กุลธิดาผู้หนึ่ง ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
เห็นพระเถระ ก็เกิดความเคารพความนับถือมาก เกิดปีติโสมนัสอย่าง
โอฬาร จึงนิมนต์ให้ท่านเข้าไปยังเรือน ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จัด
ตั่งของตน ปูผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลืองบนตั่งนั้นถวาย. เมื่อพระเถระนั่งเหนือ
ตั่งนั้นแล้ว นางคิดว่า บุญเขตสูงสุดนี้ ปรากฏแก่เราแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใส
เลี้ยงดูด้วยอาหาร ตามสมควรแก่ทรัพย์สมบัติ ทั้งนางก็ถือพัดพัดถวาย.
พระเถระฉันเสร็จแล้ว กล่าวธรรมีกถาประกอบด้วยทานมีถวายอาสนะ
ถวายอาหารเป็นต้นแล้วก็ไป. สตรีผู้นั้นพิจารณาถึงทานของตนและ
ธรรมกถานั้น อันปีติถูกต้องกำซาบไปทั่วเรือนร่าง จึงได้ถวายตั่งแม้นั้น
แก่พระเถระ.

สมัยต่อมาจากนั้น สตรีผู้นั้นเกิดโรคอย่างหนึ่งตาย ไปบังเกิดใน
วิมานทองขนาด 12 โยชน์ ภพดาวดึงส์ นางมีเทพอัปสร 1,000
เป็นบริวาร. ก็ด้วยอำนาจที่นางถวายตั่งเป็นทาน จึงบังเกิดบัลลังก์
[เตียง, ตั่ง แท่น ] ทอง ลอยไปในอากาศแล่นเร็ว ชั้นบนมีราชรถทรวด
ทรงดังเรือนยอด. ด้วยเหตุนั้น วิมานนี้จึงเรียกว่า ปีฐวิมาน. แท้จริง
วิมานตั่งนั้น เป็นทองส่องให้เห็นความเหมาะสมกับกรรม เพราะนางลาด
ผ้าสีทองถวาย ชื่อว่า แล่นไปเร็ว เพราะกำลังปีติแรง ชื่อว่า ไปได้
ตามชอบใจ เพราะนางถวายแก่ทักขิไณยบุคคลโดยจิตชอบ ได้ชื่อว่า
ประกอบด้วยความงดงาม น่าเลื่อมใสพร้อมสรรพ เพราะสมบัติคือความ
เลื่อมใสโอฬาร.
ต่อมาวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อเทวดาทั้งหลาย พากันไปสวน
นันทนวัน เพื่อเล่นกรีฑาในอุทยาน ด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์ของตน ๆ
เทวดาองค์นั้น ทรงนุ่งผ้าทิพย์ประดับด้วยทิพยาภรณ์ มีเทพอัปสร 1,000
เป็นบริวาร ก็ออกจากภพของตน ขึ้นสู่วิมานตั่งนั้น ส่องแสงสว่างดั่งดวง
จันทร์ ดวงอาทิตย์โดยรอบ ด้วยเทวฤทธิ์ยิ่งใหญ่ด้วยสิริโสภาคย์ตระการ
ไปยังอุทยาน. ก็สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เที่ยวเทวจาริกไป
โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง เข้าไปยังภพดาวดึงส์ แสดงองค์ไม่ไกล
จากเทวดาองค์นั้น. เทวดาองค์นั้น เห็นท่านก็มีความเลื่อมใสมีความเคารพ
มีกำลังพรั่งพร้อม จึงรีบลงจากบัลลังก์เข้าไปหาพระเถระ. กราบด้วย
เบญจางคประดิษฐ์แล้วยืนนมัสการประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนัข
สโมธาน [ชุมนุม 10 นิ้ว]. พระเถระเห็นประจักษ์ถึงกุศลและอกุศล

ตามที่เทวดาองค์นั้นและสัตว์เหล่าอื่นสั่งสมไว้ ด้วยความแตกฉานแห่ง
กำลังปัญญา โดยอานุภาพแห่งยถากัมมูปคญาณ [ญาณที่รู้ถึงสัตว์ทั้งหลาย
เข้าถึงภพนั้น ๆ ตามกรรม] ของท่าน เหมือนผลมะขามป้อม ที่วางไว้
บนฝ่ามือ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่ปัญญาทบทวนเฉพาะภพ
ในอดีต และกรรมตามที่สั่งสมไว้ ส่วนมากสำเร็จโดยธรรมดาแก่เทวดา
ทั้งหลายในลำดับอุปปัตติภพเท่านั้นว่า เราจุติจากไหนหนอ จึงอุบัติใน
ภพนี้ เราทำกุศลกรรมอะไรหนอ จึงได้สมบัตินี้ และญาณย่อมเกิดแก่
เทวดานั้น ตามเป็นจริงฉะนั้น พระเถระประสงค์จะให้เทวดาองค์นั้นกล่าว
กรรมที่ทำไว้แล้ว กระทำผลกรรมให้ประจักษ์แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
จึงถามว่า
ดูก่อนเทพธิดา ผู้ประดับองค์ ทรงมาลัยดอกไม้
ทรงพัสตราภรณ์สวยงาม วิมานตั่งทองของท่านโอฬาร
เร็วดังใจ ไปได้ตามปรารถนา ท่านส่องแสงประกาย
ดังสายฟ้าแลบลอดหลืบเมฆ

เพราะบุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนี้
เพราะบุญอะไร ผลนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะ
ทุกอย่างที่น่ารัก จึงเกิดแก่ท่าน

ดูก่อนเทพี ผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน
ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ท่านทำบุญอะไร เพราะบุญอะไร
ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของ
ท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทวดานั้นดีใจ ถูกท่านพระโมคคัลลานะถาม

ครั้นแล้วจึงพยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ดีฉันได้ถวาย
อาสนะแก่เหล่าภิกษุที่มาถึง [ เรือน ] ได้กราบไหว้
ไค้ทำอัญชลี [ประนมมือ] และได้ถวายทานตาม
กำลัง

เพราะบุญนั้น วรรณะของดีฉันจึงเป็นเช่นนี้
เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ดีฉัน และโภคะ
ทุกอย่างที่น่ารัก จึงเกิดแก่ดีฉัน

ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดีฉันขอบอกแก่
ท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ดีฉันได้ทำบุญอันใดไว้
เพราะบุญอันนั้น ดีฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้
และวรรณะของดีฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

อธิบายคำว่า ปีฐะ


ท่อนไม้ก็ดี อาสนะก็ดี ตั่งที่ทำด้วยเถาวัลย์ก็ดี อาสนะที่ทำด้วย
หวายก็ดี อาสนะที่ทำด้วยไม้เป็นต้นซึ่งมีชื่อแปลกออกไปมีมสารกะเตียง
ที่มีแคร่สอดเข้ากับขาเป็นต้นก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ชื่อว่าปีฐะ ตั่ง ใน
คาถานั้น. จริงอย่างนั้น ท่อนไม้มีปีฐะเป็นต้น พอวางเท้าได้ เรียกว่า
ปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ปาทปีฐํ เขียงเท้า ปาทกฐสิกา กระเบื้องรองเท้า
ท่อนไม้ที่พอมือจับได้. เรียกว่า ปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ปีฐสปฺปิ คนเปลี้ย.
ส่วนอาสนะ โดยโวหารท้องถิ่นในชนบทบางแห่งเรียกว่า ปีฐิกา ที่สำหรับ
ทำพลีกรรมเทวดาทั้งหลาย เรียกว่า ปีฐะ ได้ในบาลีนี้ว่า ภูตปีฐิกา